ขั้นตอนการผลิตภาพยนตร์ ม.6

ขั้นตอนการผลิตภาพยนตร์


บุคคลที่เกี่ยวข้องในการเตรียมงานสร้างภาพยนตร์


   1. ผู้อำนวยการผลิต (Producer) เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการผลิตภาพยนตร์ทั้งหมด นับตั้งแต่การวางแผน การถ่ายทำ หลังการถ่ายทำ เพื่อให้การผลิตภาพยนตร์เป็นไปอย่างราบรื่นและมีความสมบูรณ์ที่สุด

2. ฝ่ายกฎหมาย (Legal Department) ทำหน้าที่ในการทำสัญญา ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตภาพยนตร์ ได้แก่การทำสัญญาเช่าลิขสิทธิ์ การเช่าเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ การทำประกันภัย เป็นต้น

3. ผู้เขียนบทภาพยนตร์ (Script Writer) ทำหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์ตามที่ได้รับมอบหมายจนแล้วเสร็จ เมื่อเขียนบทเสร็จแล้วภาระหน้าที่ต่อไปก็คือการแก้ไขบทจนเป็นที่พึงพอใจของผู้ว่าจ้าง

4. ผู้กำกับภาพยนตร์ (Film Director) มีหน้าที่ในการทำความเข้าใจบทภาพยนตร์ เลือกทีมงาน เลือกนักแสดง สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ และเป็นผู้ที่ควบคุมงานผลิตภาพยนตร์ทั้งหมดภายใต้การดูแลของผู้อำนวยการผลิตภาพยนตร์

5. ผู้ช่วยกำกับภาพยนตร์ (Assistant Film Director) โดยทั่วไป จะมีผู้ช่วยกำกับภาพยนตร์ 2-3 คน ซึ่งมีหน้าที่แตกต่างกัน
  
6. ผู้กำกับภาพ (Director of Photography) จะประสานงานกับผู้กำกับ    ภาพยนตร์ ในการวางแผนการจัดแสงการออกแบบแสงและการวางมุมกล้อง    เพื่อการสิ่อความหมายด้วยภาพต่างๆ กองถ่ายหนังใหญ่ผู้กำกับภาพนั้นส่วน     ใหญ่มักจะเป็นช่างกล้องด้วย

7. ช่างกล้อง (Camera Operator) จะประสานงานกับผู้กำกับและผู้กำกับภาพในการถ่ายทำภาพยนตร์โดยการกำหนดการวางมุมกล้อง ขนาดภาพ การสื่อความหมายด้วยภาพซึ่งจะวางแผนล่วงหน้าในขั้นตอนเตรียมงานสร้างก่อนที่จะถ่ายจริง

  8. ผู้กำกับศิลป์ (Art Director) ทำหน้าที่ในการไปหาสถานที่ ที่ถ่ายทำ ร่วมกับผู้ทำหน้าที่จัดหาสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้ช่วยกำกับ ธุรกิจกองถ่าย ฯลฯ การออกแบบสร้างฉากตามยุคสมัยและบรรยากาศตามเรื่องราวในบทภาพยนตร์

9. ผู้ช่วยกำกับศิลป์ (Art Director) ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้กำกับศิลป์ในการออกแบบฉากที่ได้รับมอบหมายจากผู้กำกับศิลป์

10. ฝ่ายจัดหาอุปกรณ์ประกอบฉาก (Properties Master) ทำหน้าที่จัดหาอุปกรณ์ประกอบฉากต่างๆเช่น จัดหา ตู้ โต๊ะ นาฬิกา ผ้าม่าน ฯลฯ ตามการออกแบบของฝ่ายศิลป์

11. ฝ่ายสร้างฉาก ทำหน้าที่สร้างฉากตามที่ฝ่ายศิลป์ออกแบบ ภายในระยะเวลาที่กำหนดก่อนที่จะมีการถ่ายทำภาพยนตร์


12. ผู้เขียนสตอรี่บอร์ด (Story Board Visualizer) ทำหน้าที่แปลงบทภาพยนตร์ให้เป็นภาพเขียน โดยกำหนด ขนาดภาพ มุมกล้อง การจัดองค์ประกอบภาพ ฯลฯ เพื่อให้ง่ายสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ โดยทั่วไปแล้วการเขียนสตอรี่บอร์ดนั้นจะเขียนเฉพาะฉากที่ถ่ายทำยากๆเท่านั้น เช่น ฉาก  ACTION ต่างๆซึ่งทีมงานที่เกี่ยวข้องเช่น ผู้กำกับภาพยนตร์ ช่างกล้อง ผู้กำกับศิลป์ ฯลฯ พอเห็นภาพจากสตอรี่บอร์ดแล้วก็สามารถจะออกแบบทำงานตามหน้าที่ของตนได้ทันที

13. ผู้ออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (COSTUME DESIGNER) ทำหน้าที่ออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับต่างๆ ของตัวละคร โดยคำนึงถึงยุคสมัย บุคลิกของตัวละคร โดยก่อนที่จะออกแบบเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายนั้น ผู้ออกแบบนอกจะอ่านจากบทภาพยนตร์อย่างละเอียดแล้ว จะต้องเข้าร่วมประชุมกับผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้กำกับศิลป์ เพื่อทราบแนวคิดและกำหนดแนวทางของการออกแบบภาพยนตร์ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

14. ผู้จัดคิวเสื้อผ้าเครื่องแต่ง (WARDROBE) ทำหน้าที่จัดคิวเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของนักแสดงให้เป็นไปตามตารางการถ่ายทำภาพยนตร์ ตลอดจนดูแลเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้สามารถใช้งานได้ทันทีที่ผู้กำกับภาพยนตร์ต้องการ

15. ผู้จัดการจัดหาสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ (LOCATION MANAGER) บุคลากรตำแหน่งนี้เพิ่งมีในกองถ่ายภาพยนตร์ไทยในระยะเวลาที่ไม่นานมานี้ เพราะก่อนหน้านี้ผู้กำกับ ผู้ช่วยกำกับ และผู้กำกับศิลป์ จะช่วยกันหาสถานที่ถ่ายทำ แต่เพราะความไม่สะดวก เพื่อให้การจัดหาสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงกำหนดให้มีตำแหน่งนี้ขึ้นมา
16. ผู้คัดเลือกนักแสดง (CASTING) ทำหน้าที่คัดเลือกนักแสดงตามบุคลิกของตัวละครที่กำหนดไว้ในบทภาพยนตร์ ซึ่งการคัดเลือกนักแสดงนี้ผู้คัดเลือกนักแสดงจะต้องทำงานร่วมกับผู้อำนวยการผลิต ผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้ช่วยกำกับภาพยนตร์ เป็นต้น

17. ผู้ฝึกซ้อมนักแสดง (ACTING COACH) ทำหน้าที่หลังจากที่คัดเลือกนักแสดงแล้ว บางกองถ่ายจะกำหนดให้มีการฝึกซ้อมนักแสดงก่อนที่จะมีการถ่ายทำภาพยนตร์ 2-3 เดือน เพื่อให้นักแสดงบางคนที่ยังไม่มีพื้นฐานทางการแสดงได้พัฒนาตนเอง สามารถที่จะแสดงภาพยนตร์ในขั้นตอนการถ่ายทำได้อย่างราบรื่น สำหรับนักแสดงที่มีประสบการณ์แล้วก็จะต้องมีการฝึกซ้อมการแสดงตามบทภาพยนตร์เช่นเดียวกัน

18. ธุรกิจกองถ่ายภาพยนตร์ ทำหน้าที่ติดต่อประสานงาน ขอใช้ ขอเช่าสถานที่ถ่ายทำ ภาพยนตร์ การติดต่อนักแสดง การทำงบประมาณค่าใช้จ่ายรายวัน การจ่ายเงินแก่นักแสดงทีมงานตลอดจนทำบัญชีการใช้จ่ายในแต่ละวันเพื่อนำเสนอบริษัท บุคลากรเหล่านี้จะต้องเข้ามาเตรียมงานที่บริษัท ก่อนที่จะลงมือสร้างภาพยนตร์ ซึ่งภาพยนตร์บางเรื่องจะใช้เวลาในการเตรียมงานประมาณ 1-3 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของภาพยนตร์แต่ละเรื่อง

หลัก 3P กับการผลิตภาพยนตร์

1. ขั้นเตรียมการผลิต (Pre-Production)



เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งก่อนเริ่มทำการผลิตภาพยนตร์ ได้แก่ การเตรียมข้อมูล การกำหนดหรือวางเค้าโครงเรื่อง การประสานงาน กองถ่ายกับสถานที่ถ่ายทำ ประชุมวางแผนการผลิต การเขียนสคริปท์ การจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์การถ่ายทำ อุปกรณ์การบันทึกเสียง ห้องบันทึกเสียง ห้องตัดต่อ กล้องวีดีโอถ่ายทำ อุปกรณ์ประกอบฉาก อุปกรณ์แสง การเตรียมตัวผู้ดำเนินรายการ ผู้ร่วมรายการ ทีมงาน ทุกฝ่าย การเดินทาง อาหาร ที่พัก ฯลฯ หากจัดเตรียมรายละเอียดในขั้นตอนนี้ได้ดี จะส่งผลให้ขั้นตอนการผลิตงานทำได้ง่ายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยขั้นเตรียมการผลิต (Pre-Production) ประกอบด้วย

1.1 การแสวงหาแนวคิด 
เป็นการหาแนวทางหรือเรื่องราวที่จะนำมาผลิตเป็นภาพยนตร์ ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจแรกของผู้ผลิตรายการที่จะต้องตั้งคำถามให้กับตัวเองว่า แนวคิดคิดที่ได้นั้นดีอย่างไร และจะให้ประโยชน์อะไรต่อผู้ชม การหาแนวคิดหรือเรื่องราว จึงเป็นงานที่จะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการค่อนข้างสูง

1.2 การกำหนดวัตถุประสงค์ (Objective) 
เมื่อได้เรื่องที่จะทำการผลิตรายการแล้ว เป็นการคาดหวังถึงผลที่จะเกิดกับผู้ชมเมื่อได้รับชมรายการไปแล้ว ทุกเรื่องที่นำมาจัดและผลิตรายการโทรทัศน์ ผู้ผลิตจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ว่ามุ่งจะให้ผู้รับได้รับหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ หรือพฤติกรรมในด้านใดบ้าง การกำหนดวัตถุประสงค์อาจตั้งไว้หลายวัตถุประสงค์ก็ได้

1.3 การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย (Target audience) 
เมื่อได้กำหนดวัตถุประสงค์แล้ว ขั้นต่อไปวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายหรือผู้ชมว่ามีลักษณะอย่างไร เป็นการทำความรู้ผู้ชมในแง่มุมต่าง เกี่ยวกับเพศ อายุ การศึกษา อาชีพ ความสนใจ ความต้องการ และจำนวนผู้ชม เพื่อให้สามารถผลิตรายการได้ตรงความต้องการมากที่สุด

1.4 การวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) 
เป็นกระบวนการศึกษาเนื้อหา และข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องที่จะทำการผลิตแล้วนำมาวิเคราะห์ เพื่อให้ได้เนื้อหาสาระ และข้อมูลที่ถูกต้องทันสมัย น่าสนใจ และเพิ่มความน่าเชื่อถือ การวิเคราะห์เนื้อหาเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตที่จะต้องทำการศึกษาจาก ตำรา เอกสาร ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา และข้อมูล และข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ อย่างครบถ้วน ทำการลำดับเนื้อหาจากง่ายไปยาก เพื่อการนำเสนอที่เหมาะสม และสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี

      1.5 การเขียนบทวีดิทัศน์ (Script Writing) 
เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องจากการกำหนดแนวคิดจนถึงการวิเคราะห์เนื้อหา จนได้ประเด็นหลักและประเด็นย่อยของรายการ แล้วนำมาเขียนเป็นบท ซึ่งเป็นการกำหนดลำดับก่อนหลังของการนำเสนอภาพและเสียง เพื่อให้ผู้ชมได้รับเนื้อหาสาระตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยระบุลักษณะภาพ และเสียงไว้ชัดเจน นอกจากนั้นบทรายการวีดิทัศน์ยังถ่ายทอดกระบวนการในการจัดรายการออกมาเป็นตัวอักษรและเครื่องหมายต่าง ๆ เพื่อสื่อความหมายให้ผู้ร่วมการผลิตรายการได้ทราบ และดำเนินการผลิตตามหน้าที่ของแต่ละคน

1.6 การกำหนดวัสดุ และอุปกรณ์ในการผลิตรายการ 
โดยที่ผู้ผลิตรายการจะต้องทราบว่าต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ใดบ้าง ซึ่งต้องกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดหาและการเตรียมการต่อไป

1.7 การกำหนดผู้แสดง หรือผู้ดำเนินรายการ 
ต้องเป็นไปตามความเหมาะสมของเนื้อหาและรูปแบบของรายการที่จะนำเสนอ

1.8 การจัดทำงบประมาณ 
โดยทั่วไปจะมีการตั้งงบประมาณไว้ก่อนแล้ว แต่ในขั้นนี้จะเป็น การกำหนดการใช้งบประมาณโดยละเอียด ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินการผลิต เช่น ค่าตอบแทนผู้รวมดำเนินการผลิตรายการ ค่าผลิตงานกราฟิก ค่าวัสดุรายการ ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค่าที่พัก ค่าพาหนะ เป็นต้น

2. ขั้นการผลิต (Production)



เป็นขั้นตอนการดำเนินการถ่ายทำตามเส้นเรื่องหรือบทตามสคริปท์ทีมงานผู้ผลิต ได้แก่ ผู้กำกับ ช่างภาพ ช่างไฟ ช่างเทคนิคเสียง ช่างศิลป์ และทีมงานจะทำการบันทึกเทปโทรทัศน์ รวมทั้งการบันทึกเสียง ตามที่กำหนดไว้ในสคริปท์ อาจมีการเดินทางไปถ่ายทำยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในร่มและกลางแจ้ง มีการสัมภาษณ์ จัดฉากจัดสถานที่ภายนอกหรือในสตูดิโอ ขั้นตอนนี้อาจมีการถ่ายทำแก้ไขหลายครั้งจนเป็นที่พอใจ (take) นอกจากนี้อาจจะเป็นต้องเก็บภาพ/เสียงบรรยากาศทั่วไป ภาพเฉพาะมุมเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการขยายความ (insert) เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นและเข้าใจรายละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยทั่วไปจะมีการประชุมเตรียมงาน และมอบหมายงานเหมาะสมกับความสามารถของแต่ละบุคคล องค์ประกอบของขั้นการผลิต (Production) ประกอบด้วย

2.1 ด้านบุคลากร 
ในการผลิตภาพยนตร์เป็นการทำงานที่เป็นทีม ผู้ร่วมงานมาจากหลากหลายอาชีพที่มีพื้นฐานที่ต่างกัน ซึ่งการทำงานร่วมกันจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับทีมงานที่ดี มีความความเข้าใจกัน พูดภาษาเดียวกัน รู้จักหน้าที่ และให้ความสำคัญซึ่งกันและกัน

2.2 ด้านสถานที่ 
สถานที่ในการผลิตรายการ แบ่งออกเป็น 2 แห่ง คือ ภายในห้องผลิตรายการ และภายนอกห้องผลิตรายการ สำหรับการผลิตรายการในห้องผลิตรายการ (Studio) นั้น ผู้ผลิตจะต้องเตรียมการจองห้องผลิต และตัดต่อรายการล่วงหน้า กำหนดวันเวลาที่ชัดเจน กำหนดฉากและวัสดุอุปกรณ์ประกอบฉากให้เรียบร้อย ส่วนการเตรียมสถานที่นอกห้องผลิตรายการ ผู้ผลิตจะต้องดูแลในเรื่องของการควบคุมแสงสว่าง ควบคุมเสียงรบกวน โดยจะต้องมีการสำรวจสถานที่จริงก่อนการถ่ายทำ เพื่อทราบข้อมูลเบื้องต้น และเตรียมแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อจะได้ประหยัดเวลาในการถ่ายทำ

2.3 ด้านอุปกรณ์ในการผลิตรายการ 
โดยผู้กำกับฝ่ายเทคนิคจะเป็นผู้สั่งการเรื่องการเตรียมอุปกรณ์ในการผลิต เช่น กล้องวีดิทัศน์ ระบบเสียง และระบบแสงและเครื่องบันทึกภาพ นอกจากนั้นยังจำเป็นต้องเตรียมอุปกรณ์สำรองบางอย่างให้พร้อมด้วย ทั้งนี้เพื่อช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างทันท่วงที

2.4 ด้านผู้ดำเนินรายการ และผู้ร่วมรายการ 
การเตรียมผู้จะปรากฏตัวบนจอโทรทัศน์เป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเริ่มจากการคัดเลือก ติดต่อ ซักซ้อมบทเป็นการล่วงหน้า โดยให้ผู้ดำเนินรายการ และผู้ร่วมรายการได้ศึกษาและทำความเข้าใจในบทของตนเองที่จะต้องแสดง เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาในการถ่ายทำ

3. ขั้นการหลังการผลิต (Post-Production)



การตัดต่อลำดับภาพ หรือเป็นขั้นตอนการตัดต่อเรียบเรียงภาพและเสียงเข้าไว้ด้วยกันตามสคริปต์หรือเนื้อหาของเรื่อง ขั้นตอนนี้จะมีการใส่กราฟิกทำเทคนิคพิเศษภาพ การแต่งภาพการย้อมสี การเชื่อมต่อภาพ/ฉาก อาจมีการบันทึกเสียงในห้องบันทึกเสียงใส่เสียงพูดให้เข้ากับบรรยากาศต่างๆ อาจมีการนำดนตรีมาประกอบเรื่องราวเพื่อเพิ่มอรรธรสในการรับชมยิ่งขึ้น ขั้นตอนนี้ส่วนใหญ่จะดำเนินการอยู่ในห้องตัดต่อแต่มีข้อจำกัดหลายอย่างเช่น การเพิ่มเทคนิคพิเศษต่างๆ ซึ่งต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยและซับซ้อนมากยิ่งขึ้นมีเฉพาะช่างเทคนิคที่เกี่ยวข้องและผู้กำกับเท่านั้น (ในบางครั้งลูกค้าสามารถเข้ารับชมหรือมีส่วนร่วมในการผลิต) ระยะเวลาในขั้นตอนนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของบทและการบันทึกภาพ รวมถึงความยากง่ายและการใส่รายละเอียดต่างๆเพิ่มเติมของงานในแต่ละ THEME เช่น 3 วัน 7 วัน หรือมากกว่า 15 วันขึ้นไป องค์ประกอบของขั้นการหลังการผลิต (Post-Production) ประกอบด้วย

3.1 การลำดับภาพ หรือการตัดต่อ (Editing) 
เป็นการนำภาพมาตัดต่อให้เป็นเรื่องราวตามบทวีดิทัศน์ โดยใช้เครื่องตัดต่อ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยการตัดต่อนี้มี 2 ลักษณะ คือ
3.1.1 Linear Editing เป็นการตัดต่อระหว่างเครื่องเล่น/บันทึกวีดิทัศน์ 2 เครื่อง โดยให้เครื่องหนึ่งเป็นเครื่องต้นฉบับ (Master) และอีกเครื่องหนึ่งเป็นเครื่องบันทึก (Record) ในปัจจุบันไมนิยมใช้แล้ว เนื่องจากการตัดต่อลักษณะนี้ต้องใช้ผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน และใช้เวลานานมาก
3.1.2 Non-Linear Editing เป็นการติดต่อโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เฉพาะ ซึ่งเป็นการตัดต่อที่รวดเร็วและมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด

3.2 การบันทึกเสียง (Sound Recording)
 จะกระทำหลังจากได้ดำเนินการตัดต่อภาพตามบทวีดิทัศน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงทำการบันทึกเสียงดนตรี เสียงบรรยาย และเสียงประกอบลงไป

3.3 การฉายเพื่อตรวจสอบ (Preview) 
หลังจากตัดต่อภาพ และบันทึกเสียงเรียบร้อยแล้วจะต้องนำมาฉายเพื่อตรวจสอบก่อนว่ามีอะไรที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขหรือไม่

3.4 ประเมินผล (Evaluation) 
เป็นการประเมินรายการหลังการผลิต ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ
1) ประเมินผลกระบวนการผลิต โดยจะเป็นการประเมินด้านความถูกต้องของเนื้อหาคุณภาพของเทคนิคการนำเสนอ ความสมบูรณ์ของเทคนิคการผลิต โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา ผู้เขียนบท ผู้กำกับรายการ ทีมงานการผลิต 
2) การประเมินผลผลิต ซึ่งจะเป็นการประเมินโดยกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก โดยจะประเมินในด้านของความน่าสนใจ ความเข้าใจในเนื้อหา และสาระที่นำเสนอ


ขั้นตอนในการผลิตภาพยนตร์สั้น


ขั้นที่ 1 หาองค์ประกอบด้านวิธีการ คือ หลักการ การวางแผน การถ่ายทำ การตัดต่อ การประเมินผล

ขั้นที่ 2 หาองค์ประกอบด้านบุคลากร คือ บุคลากรในหน้าที่ต่างๆ ตั้งแต่ตัวละคร บุคคลทางเทคนิค รวมไปถึง ผู้มีความสามารถเฉพาะ และการทำงานเป็นทีม

ขั้นที่ 3 เตรียมการผลิต คือ วางแผน เตรียมสถานที่ เตรียมบท หาอุปกรณ์ให้ครบ

ขั้นที่ 4 บทหนัง คือ วางบท คำพูด ระยะเวลาสถานที่ เรื่องราวที่จะสื่อออกมา ซึ่งจะมีหลายรูปแบบดังนี้
  บทแบบสมบูรณ์ 
  บทแบบอย่างย่อ
  บทแบบเฉพาะ
  บทแบบร่างกำหนด

ขั้นที่ 5  แต่ละฉากต้องเลือกมุมกล้องให้เหมาะสม กับสภาพอากาศ ขนาดวัตถุ ว่าควรเห็นแค่ไหน ขนาดมุมกล้องมีหลายแบบ เช่น ระยะไกลมาก ระยะไกล ระยะปานกลาง ระยะใกล้

ขั้นที่ 6 ค้นหามุมกล้อง
  มุมคนดู เป็นมุมถ่ายจากรอบนอกของฉากนั้นๆ  เหมือนผู้ชมเป็นคนสังเกตฉากนั้นๆ
  มุมแทนสายตา
 มุมพ้อยออฟวิว เป็นมุมที่ใกล้ชิดเหตุการณ์ เช่น การถ่ายข้ามไหล่ของตัวละคร หรือวัตถุ

ขั้นที่ 7 การเคลื่อนไหวของกล้อง
  การแพน การทิลท์ คือ การทำการเคลื่อนไหวกล้องให้เห็นตำแหน่งวัตถุนั้นสัมพันกัน
  การดอลลี่ คือ การติดตามการเคลื่อนไหว
การซูม เป็นการเปลี่ยนองค์ประกอบภาพ เหมือนเน้นความสนใจในจุดๆหนึ่ง

ขั้นที่ 8 เทคนิคการถ่าย
  จับกล้องให้มั่น คือแขนทั้งสองข้างแนบตัว
  ไม่ควรเคลื่อนไหวกล้องแบบรวดเร็ว กล้องจะปรับโฟกัสไม่ทัน ทำให้ภาพเบลอ

ขั้นที่ 9 หลังการผลิต คือ ขั้นตัดต่อ เพิ่มเสียง เอฟเฟ็กต์ ความคมชัด และความเด่นชัดของตัวอักษร

ขั้นที่10 การตัดต่อ
  จัดลำดับภาพ และเวลาให้ตรงและเหมาะสม
  จัดภาพให้เหมาะสม เนื้อหาและโครงเรื่องที่เราวางไว้
  แก้ไขข้อบกพร่อง
  เพิ่มเทคนิคให้ดูสวยงาม




ความคิดเห็น